วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โฆษก กอ.รมน. ได้เปิดเผยว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ได้ยึดถือนโยบายของรัฐบาล

จากกรณีที่มีการกล่าวถึง “ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นปัญหาโลกแตกที่ทุกรัฐบาลไม่สามารถทำให้ปัญหาตกผลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธีการปราบปรามที่เด็ดขาดหรือการเจรจาเพื่อสันติสุข เปลี่ยนผู้รับผิดชอบมาหลายรุ่น มีทั้งฝ่ายปกครองและทหาร มีคณะกรรมการหลายชุด สุดท้ายก็ยังคว้าน้ำเหลวอยู่ดีโดยวัดจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ และยังได้ระบุอีกว่าแผนเบตง 61ที่บูรณาการขึ้นมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านมาก็เคยมีนโยบายแนวคิดในการแก้ปัญหาในภาคใต้คล้ายๆกัน คือเอาเศรษฐกิจลงไปปฏิบัติควบคู่กับความมั่นคง เพราะเชื่อว่าเมื่อประชาชนมีความกินดีอยู่ดีก็จะนำมาซึ่งความสงบสุข แต่ท้ายที่สุดประสบกับปัญหาเงินงบประมาณไปไม่ถึงมือชาวบ้าน นโยบายจึงไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีการแสวงหาผลประโยชน์กันอย่างมหาศาล ”นั้น
วันนี้(7 ก.ค.61) พล.ต. พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. ได้เปิดเผยว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ได้ยึดถือนโยบายของรัฐบาล , นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกรอบในการดำเนินงาน และได้พัฒนาแผนงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด พร้อมกับได้มีการประเมินผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นพื้นที่ที่ได้ผ่านการประเมิน และมีการพิจารณาได้ข้อยุติร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดที่กำหนด เช่น ความรุนแรง ความเคลื่อนไหว ความพร้อมของกำลังประจำถิ่น ความพึงพอใจของประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น รัฐบาลจึงได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ตั้งแต่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. 61 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 61 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการดำเนินงาน ที่ได้ก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายให้มีสันติสุขเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ กอ.รมน. ได้ดำเนินการพัฒนาส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการสนับสนุนและเพิ่มบทบาทของประชาชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น เช่น การสนับสนุนส่งเสริมการรวมกลุ่มการเลี้ยงไก่เบตง , การเพาะเลี้ยงปลากือเลาะห์ , การเลี้ยงแพะดำ และการปลูกส้มโชกุน รวมไปถึงการสนับสนุนส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยว เช่น อุโมงค์ปิยะมิตร , สวนหมื่นบุปผา , ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และอุทยานแห่งชาติฮาลา-บาลา เป็นต้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในรูปแบบของประชารัฐ ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน

ซึ่งการบริหารจัดการพัฒนาและแก้ไขปัญหา จชต. นั้น กอ.รมน. ได้ยึดถือนโยบายของ ผอ.รมน. ที่ให้ดำเนินงานอย่างมีคุณธรรมและโปร่งใส มีการปฏิบัติงานอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม มีมาตรการควบคุมและตรวจสอบในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
----------------
สง.โฆษก กอ.รมน. (สวนรื่นฤดี) ถ.นครราชสีมา เขตดุสิต กทม. โทร. 0-2241-4109

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น