ประชาสัมพันธ์ ▶ |
วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมผู้ว่าฯชลบุรี ตรวจเยี่ยมจุดบริการประชาชน คุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19
วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับกองทัพบก
วันที่ 23 ธันวาคม 2563 เวลา 08.30 นาฬิกา พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่ กองทัพบก โดยมี พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ ณ กองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพฯ การตรวจเยี่ยมฯ ในครั้งนี้ กองทัพบก ได้จัดพิธีต้อนรับประกอบด้วย การตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ การวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับฟังการบรรยายสรุปแผนงาน และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กองทัพบกให้ความเร่งด่วนในการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการจัดกิจกรรมโครงการหน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” รวมทั้งการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเต็มขีดความสามารถและสมพระเกียรติ และให้ยึดถือนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงกลาโหม และนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นแนวทาง
รวมทั้งได้ชื่นชมผลการปฏิบัติงานของกองทัพบก ทั้งในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบรรเทาภัยพิบัติและช่วยเหลือประชาชน การเป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้ประเทศชาติสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤติการณ์มาได้จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้ชื่นชมการดำเนินงานของกองทัพบกในการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังรบ การพัฒนาคุณลักษณะผู้นำของผู้บังคับหน่วยทหารในทุกระดับ และการพัฒนาระบบการฝึกต่าง ๆ ทั้งเป็นบุคคลและเป็นหน่วย อันจะส่งผลให้กองทัพไทยมีความพร้อม และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า กองทัพบก ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารบก จะสามารถปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาของชาติให้ลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำกองทัพบกไปสู่ความเป็นกองทัพบกชั้นนำของภูมิภาค และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนตลอดไป
ชุมชนเกษตรกรรมในอุดมคติรูปแบบ “สหกรณ์”
เมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อน เมื่อครั้งที่ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก พากันอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ในครั้งนั้นชาวยิวส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมตามชนบท หรือที่เรียกว่า ‘คิบบุตซ์’ (Kibbutz) ปัจจุบันทั่วทั้งประเทศอิสราเอลมีคิบบุตซ์อยู่มากกว่า 250 แห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ภายในคิบบุตซ์แต่ละแห่งคือชุมชนที่สมาชิกทุกคนจะร่วมกันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างรวมทั้งผลผลิตที่ได้ จะถือเป็นสมบัติของส่วนรวมทั้งหมด เน้นการพึ่งพาตัวเอง และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชนขนาดเล็กตามชนบททั่วโลกที่ไม่มีทรัพยากรมากนัก ได้ใช้เป็นแบบอย่างในการฝ่าฟันอุปสรรคและยืนบนลำแข้งของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ
เกษตรกรยิวทุกวันนี้ทำการเกษตรจนมีฐานะร่ำรวย สามารถจ้างแรงงานไทยไปทำงานในฟาร์มของเขา จากการค้นคว้าข้อมูล (เทคโนโลยีชาวบ้าน ออนไลน์) พบว่าปี 2556 มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในอิสราเอล ประมาณ 26,700 คน แบ่งเป็นการทำงานในภาคเกษตร 26,000 คน งานก่อสร้าง 70 คน ช่างเชื่อม 30 คน งานร้านอาหาร 500 คน งานดูแลคนชราหรือคนพิการ 100 คน
ความสำเร็จด้านระบบเกษตรของประเทศอิสราเอล เริ่มจากคนรุ่นแรก 800 คน ที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่นี้ ในปี ค.ศ. 1907 เป็นกลุ่มคนที่มีมันสมองดีมารวมตัวกันเพื่อจะสร้างอิสราเอลให้เป็นประเทศการเกษตร (แต่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน) จึงมีการวางระบบที่ดี ภายใต้ปัจจัยที่อิสราเอลมีทรัพยากรจำกัด แล้วสืบทอดต่อกันมา
เริ่มจากการรวมกันสร้างชุมชนเกษตรกรรม เรียกว่า คิบบุตซ์ (Kibbutz หรือ นิคมการเกษตร) คนที่มีความคิดความอ่านที่ค่อนข้างดีมามารวมตัวกัน ตั้งแต่ไม่มีสมบัติเป็นของตัวเอง ผลผลิตทุกอย่างก็เพื่อเป็นของรัฐ ผลตอบแทนที่ร่วมกันผลิตใช้วิธีการแบ่งปันกัน
ส่วนอีกพวกคือ โมชาฟ (Moshav) เป็นพวกที่รวมกลุ่มเหมือนกัน แต่จะมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ซึ่งในอิสราเอล จะมี 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ทำด้านการเกษตร
การรวมกลุ่มกันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลดีต่อการทำการเกษตรอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึง อำนาจการต่อรอง และ เป็นเส้นทางส่งผ่านข้อมูลและความรู้และการสนับสนุนด้านต่างๆจากภาครัฐไปยังเกษตรกร รวมถึงการคัดเลือกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ก่อให้เกิดรายได้ที่ดีแก่เกษตรกร
กรณีสถานีวิจัยทางด้านการเกษตรและหน่วยงานราชการจะถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความรู้ด้านใด ก็สามารถเชื่อมโยงไปยัง คิบบุตซ์ หรือ โมชาฟ เมื่อเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไปใช้ จะมีการส่งข้อมูลย้อนกลับไปที่สถานีวิจัยทันที การแก้ปัญหาจึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาและต่อยอดประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพได้ราคาดี ผลจากการการเชื่อมโยงข้อมูลที่สม่ำเสมอและรวดเร็ว
หลักสำคัญในการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพนั้น ประกอบด้วย
1. ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ ในการควบคุมระบบชลประทาน
2. การปรับแต่งพันธุกรรมพืช เพื่อให้คงทนต่อโรคพืชและแมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น
3. ทำการเกษตรแบบระบบปิด เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันในอิสราเอลมี คิบบุตซ์ 267 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนลดลงเรื่อยๆ เพราะคิบบุตซ์บางแห่งปรับเปลี่ยนไปเป็นโมชาฟ มีจำนวนโมชาฟ 448 แห่ง ทั่วประเทศ ทั้ง 2 รูปแบบนี้ นอกจากจะเป็นฟาร์มเกษตรแล้ว หลายแห่งยังเปิดบ้านพักที่เรียกว่า ซิมเมอร์ (กระท่อม) เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นธรรมชาติ สร้างรายเพิ่มไปอีก
“คุณอัฟชาลอม วิลัน” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรแห่งอิสราเอล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ให้คำแนะนำไว้เกี่ยวกับความช่วยเหลือให้กับเกษตรกร รัฐบาลไทยน่าจะจัดสรรเงินกู้สนับสนุนระยะยาวให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปเป็นทุนสร้างฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกลุ่มเกษตรกร เริ่มต้นอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยเลือกกลุ่มคนที่มีใจชอบ อีกส่วนหนึ่งคือ นำความรู้ด้านวิชาการเข้าไปใช้

ข้อสังเกตุปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาเกษตรกรไทย ที่เห็นได้ชัด คือ ไม่มีตัวแทนกลุ่มใหญ่ๆ ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริงให้เหมือนที่ดำเนินการในอิสราเอล โดยใช้พลังการรวมกลุ่ม ความสามัคคี/มีวินัย และ ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ เช่น กลุ่มผัก ผลไม้ ขนาดใหญ่ เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองสามารถขจัดปัญหาด้านราคาผลผลิต ข้อเท็จจริงพบว่า สหกรณ์การเกษตรในประเทศไทยเน้นการให้สินเชื่อ มีรายได้จากการลงทุนรับส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เรียกเก็บจากเกษตรกรเป็นธุรกิจหลักยอดนิยม ยังขาดความใสใจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรไม่เข้มข้นและไม่จริงจังเท่าที่ควร
ผมขออนุญาตยกข้อความของ คุณภาวิณีย์ เจริญยิ่ง จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน(ออนไลน์) วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 26 ฉบับที่ 565 มาเพื่อตอกย้ำแนวคิดการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตร ของประเทศที่เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี น่าจะนำมาปรับใช้และเป็นแนวทางสำหรับองค์กรเกษตรกร โดยเฉพาะที่จดทะเบียนและจัดตั้งเป็น “สหกรณ์” ประเภทการเกษตรทั้งหลาย ที่มีอยู่ในประเทศไทย
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของเกษตรกรรมในอิสราเอล มีจุดเด่นอยู่ที่ความมานะพยายาม อดทนของเกษตรกร พร้อมด้วยเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการการตลาดที่ดี ผลผลิตการเกษตรของเขาจำเป็นต้องทำในระบบปิด เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศมีพายุทะเลทราย แต่มีข้อดีที่สามารถควบคุมการระเหยของน้ำ พืชผัก ผลไม้ ของอิสราเอลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งค่อนข้างจะได้ราคาดีเพราะเป็นเกรดพรีเมี่ยม ที่อิสราเอลมีปัญหามากกว่าบ้านเราเยอะ แต่ที่เขาทำได้เพราะเขามีความอดทน สินค้าเกษตรของเขาส่งออกไปยุโรปมากมาย ซึ่งก็มีการคุมเรื่องสารพิษตกค้าง ถ้าผลิตภัณฑ์ตัวไหนมีตรารูปอูฐแสดงว่าเป็นของอิสราเอลและเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ในยุโรปจะมีวางขายอยู่ทั่วไป เกษตรกรจึงสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ
สรุปสุดท้าย ขอส่งข้อความนี้ไปยังผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรทุก ๆ ท่าน โปรดให้ความสนใจด้านการส่งเสริมอาชีพสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น อย่ามุ่งหวังแต่ความสำเร็จของสหกรณ์ ฯ ที่เคยชินกับการมีกำไรสุทธิจากธุรกิจสินเชื่อ โดยเรียกเก็บรายได้จากหยาดเหงื่อของสมาชิกเป็นสำคัญ อย่าลืมว่าสหกรณ์ตั้งอยู่ได้ด้วยสมาชิก หากสมาชิกไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ผลกระทบระยะยาวก็จะล้มเหลวในธุรกิจ ค่านิยมการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ทำสัญญากู้ฉบับใหม่ล้างหนี้เก่าโดยมุ่งผลกำไรทางบัญชี เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง สมาชิกเกิดมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็จะไม่สามารถชำระคืนให้กับสหกรณ์ได้อีกต่อไป ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนกันเสียที แล้วเมื่อไรเกษตรกรจะพ้นทุกข์ ไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่เรื้อรังให้หมดสิ้นไป หนทางดีมีให้เห็นอยู่ที่เราจะก้าวไปกันหรือยัง
ขอบคุณ ที่มา https://www.77kaoded.com/
วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563
โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย พ่อหลวง ร.9
พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ผู้ให้ของปวงชนชาวไทย " พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" มีความเป็นห่วงในสุขภาพของพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ เพื่ออยากให้ราษฎรอยู่ดีกินดี มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ และเพื่อความสะดวกสบายจึงมีโครงการพระราชดำริด้านการแพทย์เพื่อราษฎรในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงดูแลประชาชนของพระองคือย่างทั่วถึงไม่ว่า หนทางจะลำบากเพียงใดพระองค์ก็ทรงพระราชดำเนินไปหาพสกนิกรของพระองค์ได้ทุกที่ทุกแห่ง เปิดโครงการพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย จากพระราชประสงค์ให้พสกนิกรไทยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
1. โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการพระราชดำริโครงการนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2510 เมื่อพระบาทสมเด็จพมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ไปยังท้องถิ่นทุรกันดารในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ของทางราชการเข้าไปถึง เพื่อให้การตรวจรักษาราษฎร โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ
2. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการพระราชดำริทางด้านการแพทย์โครงการแรก ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 อันเนื่องมาจากที่พระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตรเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนที่โครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จฯ เจ็บป่วยกันมาก อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการเดินทางไปรักษา
3. หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน หน่วยทันตกรรมพระราชทานก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เมื่อพระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ทรงทราบว่าทันตแพทย์มีอยู่น้อยและจะมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น หรือบางจังหวัดก็ไม่มีทันตแพทย์อยู่เลย ดังนั้นพระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน และมีหัวหน้าทีมทันตแพทย์คอยจัดส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า โดยได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม
5. โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านศัลยกรรม และรวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น โดยในภายหลังพระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และเปลี่ยนชื่อเป็นราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
9. พระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญที่มีพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ต่อพสกนิกรชาวไทยมากมายหลายด้าน รวมทั้งพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคแก่คนไทยโดยใช้วัคซีนมากว่า 60 ปี โดยในปี 2493 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) พร้อมพระราชทานนามตึกนี้ว่า “มหิดลวงศานุสรณ์” ซึ่งเป็นการตั้งต้นผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ
ถัดมาในปี 2495 เกิดการระบาดร้ายแรงของโรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ทำให้เด็กไทยจำนวนมากที่ป่วยมีความพิการทางแขนและขา พระองค์ทรงพระราชทานทุนแรกเริ่ม และได้รับเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนมากสำหรับจัดตั้ง “กองทุนโปลิโอสงเคราะห์” เพื่อก่อสร้างตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อเครื่องมือและพระราชทานไปยังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อรองรับการรักษาพยาบาลและก่อตั้ง “สถานบำบัดโปลิโอ” ในโอกาสนี้ด้วย
พระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ
วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมและบำรุงขวัญกำลังพล ณ กองกำลังผาเมือง

วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๒๕ นาฬิกา พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะตรวจเยี่ยมและบำรุงขวัญกำลังพลในหน่วยปฏิบัติงานสนามในพื้นที่ กองกำลังผาเมือง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังพลในทุกระดับ ที่ปฏิบัติงานในสนาม

สำหรับกองกำลังผาเมืองเป็นหน่วยงานหลักของกองทัพบกในการป้องกันประเทศด้านเหนือ มีภารกิจในการป้องกันชายแดนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตย ป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน การลักลอบค้าอาวุธสงคราม การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้มอบยุทโธปกรณ์พิเศษและของขวัญปีใหม่ พร้อมกล่าวให้โอวาทแก่กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ อดทน มุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชน
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้เดินทางไปยังสะพานมิตรภาพแม่น้ำสาย แห่งที่ ๒ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเพื่อตรวจการปฏิบัติงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID – 19 ในพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บริเวณริมแม่น้ำสายในการเพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยเน้นย้ำให้หน่วยทหารที่กำกับดูแลพื้นที่ชายแดนเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าตรวจการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป